Thursday, December 23, 2010

มุมของท่าฝึกมีผลกับการเติบโตกล้ามเนื้อ

ท่า Incline biceps curl เป็นท่ายอดนิยมสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อแขน นั่นเพราะลักษณะที่ทำให้น้ำหนักกดลงเฉพาะที่ไบเซบทั้งสองมัด และท่าที่ทำให้กล้ามเนื้ออยู่ในลักษณะ isometrics (ที่เรียกกันว่าท่าแต่ง) แบบนี้จะทำให้ใยกล้ามเนื้อเข้ามาทำงานได้มากกว่า แล้วที่ท่า Incline biceps curl ทำในท่านั่งนั้นก็เพราะจะทำให้ระบบประสาทเจาะจงสั่งการไปยังแขน โดยไม่ต้องแบ่งพลังงานไปยังขาเพื่อให้เราทรงตัวยืน

ผลศึกษาค่า EMG (มาตรกระแสไฟฟ้า-หรือก็คือกล้ามเนื้อทำงานมากแค่ไหน) ของมหาวิทยาลัยยอร์คเองก็ระบุว่ายิ่งท่าฝึกของเราเป็นแบบ Isomatrics มากเท่าใด กล้ามเนื้อที่เราเน้นฝึกนั้นก็จะทำงานมากขึ้น

ท่า Isometrics เหมาะกับการเน้นกล้ามเนื้อที่พัฒนาตามไม่ทัน ไม่ใช่ท่าที่จะสร้างกล้ามเนื้อหรือยกหนักๆได้ ก็ควรระวังด้วยนะครับ

Wednesday, December 22, 2010

Squat หรือ Deadlift?


มีการถกเถียงกันมานานว่าระหว่าง Squat หรือ Deadlift ที่สามารถสร้างมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงได้มากกว่ากัน แต่ทั้งสองท่านี้เปรียบเทียบกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะกลไกการเคลื่อนไหวต่างกัน และจะให้ฟังเสียงคนที่ยกน้ำหนักจากทั้งโลกก็คงไม่ได้เพราะเราไม่รู้ว่ามีคนฝึกท่า Squat กี่คนแล้วก็ท่า Deadlift กี่คน

เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจกับเรื่องง่ายๆกัน คนที่ตัวสูงและมีแขนยาวจะได้เปรียบในท่า Deadlift ส่วนคนที่ตัวเตี้ยและขาสั้นจะได้เปรียบในท่า Squat แล้วก็มีพวกคนพิเศษที่สามารถก้าวหน้ากับทั้งสองท่าได้พอๆกัน แล้วก็คนพิเศษกว่าที่ไม่เหมาะกับทั้งสองท่าฝึกนี้ (แต่ก็จะถนัดท่านึงมากกว่าอีกท่าอยู่ดี)

โปรแกรมฝึกที่จะทำให้ทราบว่าร่างกายเราเหมาะกับท่าไหนมากกว่ากัน; วันจันทร์ Deadlift-เบาและเน้นท่าให้ถูกต้อง, วันอังคาร Squat-หนักเน้นยกน้ำหนัก, พุธ พัก, พฤหัส Deadlift-หนักเน้นที่น้ำหนัก, ศุกร์ Squat-เบาและเน้นท่าให้ถูกต้อง
เมื่อเวลาผ่านไป 8 สัปดาห์ให้ดูว่าท่าไหนที่มีความก้าวหน้ามากกว่า เช่นว่าผมเริ่ม Deadlift และ Squat ที่ 20 กิโลกรัมเท่ากัน และเมื่อจบ 8 สัปดาห์ ผม Deadlift ได้ 100 กิโลกรัมและ Squat 75 กิโลกรัม ก็เป็นที่แน่ชัดว่าร่างกายผมเหมาะกับการ Deadlift

ดังนั้นจึงเหมาะกว่าที่ผมจะเน้นท่า Deadlift และรักษาระดับน้ำหนักของท่า Squat ไว้ แทนที่จะเน้นเพิ่มน้ำหนัก เพราะแบบนี้จะทำให้ผมยกในท่า Deadlift ได้มากกว่าเดิม และน้ำหนักที่มากขึ้น=กล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น

แต่ถ้าคุณยกทั้งสองท่าได้พอๆกัน แล้วท่าหนึ่งยกได้น้อยกว่าอีกท่า ก็ไม่ใช่ว่าจะให้ดำเนินยกทั้งสองท่าต่อนะครับ แบบนั้นจะทำให้ร่างกายล้าเกินไป ก็เน้นเฉพาะท่าที่ยกได้มากกว่าเท่านั้น

Monday, December 20, 2010

What is Calorie?

วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่อง แคลลอรี่ซึงเป็นพื้นฐานของการเพาะกาย ที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ร่างกายเราเติบโตเลยล่ะ
แต่ผมขออธิบายคร่าวๆหน่อยล่ะกัน 1 แคลลอรี่ เท่ากับหน่วยพลังงานที่ต้องการเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียสให้กับน้ำ 1 มิลลิลิตร

ปกติผู้ชายทั่วไปต้องการพลังงาน 2,000-3,000 แคลลอรี่ต่อวัน แล้วแต่ว่ามีมวลกล้ามเนื้อมากแค่ไหน ทำกิจกรรมอะไรมากแค่ไหน และระบบเผาผลาญปกติอยู่ที่ระดับใด

โดยแคลลอรี่จะได้มาจากอาหารซึ่งแต่ละแหล่งก็ให้พลังงานไม่เท่ากัน(และมีวงจรเผาผลาญไม่เหมือนกัน) ฟื้นฟูวิชาวิทย์ฯสักนิด โปรตีน/4แคล, คาร์โบ/4แคล, ไขมัน/9แคล, แอลกอฮอลล์/7แคล

ความจริงขณะร่างกายเผาผลาญโปรตีน จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนหรือสภาวะ ‘thermogenic’ และโปรตีนแหล่งต่างกันก็ให้ปริมาณแคลลอรี่ต่างกัน ตั้งแต่ 3.8 แคล – 4.2 แคล แต่เราไม่ต้องไปห่วงเรื่องพวกนี้ว่าจะมีผลอะไรกับร่างกาย เพราะผลพวกนี้ ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างที่เป็นนัยยะสำคัญ หรือเราไม่จำเป็นต้องไปสนใจนั่นล่ะ

ที่บอกไปว่าอาหารแต่ละแหล่งก็มีวงจรเผาผลาญไม่เหมือนกัน การกินคาร์โบไฮเดรต 400 กรัม กับ โปรตีน 400 กรัม ไม่มีทางทำให้ร่างกายพัฒนาไปทางเดียวกัน เวลาที่เราย่อยคาร์โบไฮเดรต พลังงานราว 3-6% จะเสียไปในรูปความร้อน ขณะที่ไขมันจะเสียพลังงานไปไม่เกิน 3%

แต่โปรตีน ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานของโปรตีนไป 15-25% ในขณะย่อย และใช้พลังงานอีกมากเพื่อเปลี่ยนโปรตีนเป็นไกลโคเจนและไขมัน(ไขมันเป็นลำดับสุดท้าย) อุณหภูมิของร่างกายเองก็จะเพิ่มขึ้นขณะที่เผาผลาญโปรตีนด้วย จึงเป็นเหตุผลหลักๆว่าทำไมการไดเอ็ทแบบโปรตีนสูงจึงได้ผล

บทความนี้เป็นเพียงการเล่าเรื่องนะครับ เพราะในทางหลักปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครกินแค่โปรตีนเดี่ยวๆ คาร์โบไฮเดรตโดดๆกันหรอก แล้วร่างกายก็จะไม่อยู่ในสภาวะที่จะสร้างกล้ามเนื้อด้วยหากกินจากแหล่งพลังงานแหล่งเดียว เว้นเสียว่าจะไดเอ็ทลดความอ้วนก็ว่าไปอย่าง

Sunday, December 19, 2010

Deadlift ท่าฝึกที่ดีที่ไม่มีใครฝึก

ท่า deadlift มีวงการเคลื่อนไหวตั้งแต่พื้นถึงช่วงเอว ผิดจาก rack pulls ที่ช่วงการเคลื่อนไหวสั้นกว่าถึงครึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อตั้งแต่ขาถึงคอได้รับการกระตุ้นอย่างดี

แต่ที่ deadlift ไม่ได้รับความนิยมมากนักอาจจะเพราะความอันตรายของมันนี่ล่ะ พวกที่เพิ่งฝึกชอบโค้งหลังขณะยกบาร์ ทำให้กระดูกเคลื่อนและเอ็นยึดกล้ามเนื้ออักเสบได้ง่าย ทั้งที่ถ้าฝึกกันดีๆ คอยหมั่นจัดท่าให้ถูกต้อง ท่า deadlift จะเป็นท่าที่กระตุ้นกล้ามเนื้อได้แทบทุกส่วน ทั้งกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อขา และช่วยฝึกกำลังของมือด้วย

จัดท่ากันยังไง?

Friday, December 17, 2010

Ketogenic Diet ฉบับย่อส่วน (ไดเอ็ทแบบคาร์บต่ำ)

พอดีแว่บผ่านไปที่เว็บพันทิพย์แล้วเห็น "การไดเอ็ทด้วยโปรตีนบริสุทธิ์" เลยคิดว่าอยากจะเขียนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้หน่อย

Ketogenic Diet คือการไดเอ็ทโดยการกินอาหารประเภทโปรตีนและไขมันตามปกติ โดยจำกัดจำนวนของคาร์โบไฮเดรตไว้ในระดับต่ำหรืองดไปโดยสิ้นเชิง ร่างกายจะเข้าสู่สภาวะเลียนแบบการอดอาหาร ซึ่งจะนำไขมันที่เก็บสะสมไว้มาเผาผลาญซะ

ข้อดีของ Ketogenic Diet คือ ร่างกายจะเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่และไขมันที่รับเข้าไปได้ต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาพลังงานส่วนเกินเป็นไปได้ยาก อีกทั้งระดับอินซูลินจะลดต่ำลง ทำให้ความต้านทานอินซูลินลดน้อยลงด้วย (ซึ่งดีต่อสุขภาพ)

ข้อเสียของ Ketogenic Diet คือในช่วงปรับตัว ร่างกายจะไม่มีแรง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย และใช้เวลาอาจถึงสามสัปดาห์เพื่อปรับตัวสำเร็จ และเนื่องจากร่างกายเผาผลาญกรดไขมันเป็นพลังงาน ทำให้มีสารเคมีที่เรียกว่า Ketone ในร่างกายมากและถ่ายทอดออกมาผ่านรูขุมขนและลมหายใจได้

ในตำราเว็บพันทิพย์เองก็ตัดย่อเพื่อไม่ให้ซับซ้อนเกินไป ผมคิดว่านั่นก็เป็นเรื่องที่ดีและคิดว่าจะเน้นจุดที่ทางนั้นไม่ได้กล่าว

ก็คือ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต

Creatine, Caffeine และ Amino Acids ช่วยร่างกายฟื้นฟูไวขึ้น

ใน Journal of International Society of Sports Nutrition ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยของ Jeffrey Stout จากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาระบุว่าการทานอาหารเสริมสามตัวซึ่งมี Creatine, Caffeine และ Amino Acids (โปรตีนดูดซึมไวอย่าง Whey) ก่อนเวลาฝึกสามสิบนาทีทำให้ประสิทธิภาพการฝึกเพิ่มมากขึ้น / ซึ่งในงานวิจัยใช้การฝึกแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) โดยผู้เข้าทดสอบออกกำลัง 3 ครั้งต่อสัปดาห์

นี่สรุปได้ว่าการที่ร่างกายมี Amino Acids ไว้เป็นพลังงานสำรองหลัง Glucose ไปนั้นมีส่วนช่วย
ตัว Creatine เองก็เป็น ATP สำรอง และ Caffeine ช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวนั่นเอง

Thursday, December 16, 2010

วางแผนฝึกให้โอเวอร์เทรน (ต่อ)

ร่างกายมีความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันที่ได้รับ และเพื่อให้รองรับต่อแรงกดดันที่อาจจะ "มากขึ้น" ในอนาคต ร่างกายคนเราก็เลยไม่เพียงแค่ปรับให้พอเหมาะต่อแรงกดดันนั้น แต่จะปรับให้ "มากขึ้น" ตามไปด้วย

อย่างเรายกน้ำหนักได้ 40 กิโลกรัม ตอนแรกกล้ามเนื้อจะเกิดอาการบาดเจ็บ และเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นบาดเจ็บซ้ำสอง ร่างกายก็จะปรับกล้ามเนื้อพวกนั้นให้รองรับน้ำหนักขนาด 45 กิโลกรัมได้

นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและโค้ชที่มีประสบการณ์ต่างก็เห็นคุณสมบัติข้อนี้ของร่างกาย และเห็นพ้องว่าการฝึกแบบเป็นวงจร (cycle) มีประโยชน์กว่าแค่เพิ่มน้ำหนักไปเรื่อยๆ

ผมเองก็ยึดหลักฝึกให้โอเวอร์เทรนมาพักหนึ่งและคิดว่าการฝึกแบบนี้ได้ผลกับตัวเองมากที่สุด (บอกก่อนว่ากว่าผมจะเจอแผนฝึกที่เหมาะกับตัวเอง ผมลองมาหลายอย่างร่วมสองปี บางทีการฝึกแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับคุณก็ได้ แต่ก็ลองดูก่อนครับ)

Wednesday, December 15, 2010

โปรแกรมฝึก 5sets x 5reps

พอดีผมเจอหนังสือของ Bill Starr ที่ตัวเองเก็บไว้ พออ่านดูก็พบกับโปรแกรมฝึกแบบ 5x5 ซึ่งก็คือ 5 sets แต่ละเซ็ทก็ 5 reps

โปรแกรม 5x5 เป็นโปรแกรมฝึกที่ใช้กันมานาน และสามารถใช้ได้ทุกคน และมักเป็นโปรแกรมแนะนำสำหรับนักเพาะกายมือใหม่

เหตุผลที่ต้อง 5 เซ็ทก็เพราะว่าเป็นจำนวนที่ทำให้เกิดการสร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายได้โดยที่ไม่ทำให้ระบบประสาทล้า ส่วนที่ต้อง 5 reps ก็เพราะน้ำหนักที่เรายกได้ที่ 5reps จะอยู่ที่ราว 80-85% และระดับน้ำหนักนี้ดึงเอากล้ามเนื้อทุกกลุ่มมาใช้ได้มากสุดโดยที่ไม่ทำให้ระบบประสาทล้า (นั่นล่ะ ประเด็น)

โปรแกรม 5x5 แบบดั้งเดิมนั้น ออกแบบให้เพิ่มน้ำหนักในแต่ละเซ็ท เช่นท่า bench ก็อาจจะเป็น 40kg, 50kg, 60kg, 70kg, 80kg แล้วพอถึงกำหนดที่ต้องฝึก bench ในรอบหน้าก็อาจจะเพิ่มน้ำหนักไป 5 กิโลในแต่ละเซ็ทเป็น 45kg, 55kg, 65kg, 75kg, 85kg ซึ่งเซ็ทที่กระตุ้นกล้ามเนื้อจริงๆก็คือสองเซ็ทสุดท้าย ที่หนัก 80-85% นั่นล่ะ

Tuesday, December 14, 2010

Vitamin D มีความสำคัญต่อระดับฮอร์โมนเพศชาย(และการเพาะกาย)

วิตามิน D เป็นกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งวิตามิน D ที่พบกันในตลาดมักจะเป็น D2 (ergocalciferol) และ D3 (cholecalciferol) ปกติแล้วเราได้รับวิตามิน D จากการโดนแดด อาหาร และวิตามินเสริม

ถ้าไม่นับวิตามินเสริมแล้วล่ะก็ ผิวหนังคนเราเนี่ยล่ะที่เป็นแหล่งวิตามินที่เยอะที่สุด เพียงแต่ว่าคนสมัยนี้ไม่ได้โดนแดดเท่าที่ควร แถมหลบแดดอีกต่างหาก ส่วนความเชื่อว่าเราได้วิตามิน D จากอาหารเพียงพอในแต่ละวันนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด

แหล่งวิตามิน D ที่เรารู้จักดีสุดคือนม โดยปกติแล้วใน 250 มิลลิลิตร จะมีวิตามิน D "ราว" 100iu ซึ่งบ่อยครั้งที่นมนั้นจะมีวิตามินดีน้อยกว่าอัตรานี้ ส่วนปลาที่ไขมันสูงอย่างแซลมอนหรือซาร์ดีนก็มีวิตามินดีเหมือนกัน อยู่ที่ราวๆ 200-300 iu ต่อครึ่งกิโลกรัม

แต่ว่าบ่อยแค่ไหนที่เรากินอาหารวิตามินดีสูงพวกนี้? ในแต่ละวันเราโดนแดดนานแค่ไหน? เมื่อลองนับกันดีๆแล้วผมเชื่อว่ามันไม่เยอะหรอกและไม่พอด้วย ทำให้การทานวิตามิน D เสริมเป็นเรื่องสำคัญ

Monday, December 13, 2010

ยกกี่ครั้งได้ผลดีสุด

ตอนที่ผมเริ่มเพาะกายใหม่ๆก็ถามพวกรุ่นพี่เหมือนกันว่ายกน้ำหนักกี่ครั้งได้ผลดีสุด แล้วพอผมฝึกพวกรุ่นน้อง ก็เจอคำถามนี้กับตัวเองด้วยเหมือนกัน

ตกลงว่ายกน้ำหนักกี่ครั้งดีสุด?

ผมจะค่อยๆอธิบายล่ะกัน

ลองคิดว่าร่างกายคนเรา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันที่เผชิญ และทำการปรับโครงสร้างของกล้ามเนื้อให้รองรับกับแรงกดดันนั้นได้สะดวกขึ้น หรือยิ่งเรายกน้ำหนักมากเท่าใด ขนาดกล้ามเนื้อก็จะปรับตัวให้แข็งแรงขึ้นนั่นเอง

สังเกตดูสิครับว่าพวกที่ตัวใหญ่ๆน่ะ ล้วนแต่แรงเยอะทั้งนั้น

Saturday, December 11, 2010

Rack Pulls ท่าฝึกที่ถูกมองข้าม

หลายๆคนชอบมองว่า rack pulls เป็นเพียงท่าโกงของ deadlifts เพราะเรายกน้ำหนักจากแท่นเหนือพื้น ทำให้การยกนั้นง่ายขึ้น และไม่มีประโยชน์เท่า deadlifts

ซึ่งทั้งจริงและไม่จริงครับ


ท่า rack pulls ตัดช่วงการเคลื่อนไหวเบื้องต้นออกไป ทำให้เราไม่นำกล้ามเนื้อหน้าขามาเกี่ยวข้อง นี่คือข้อเสียของท่านี้

ถึงอย่างนั้น rack pulls ก็ยังเป็นท่าเพาะกายที่ดี เพราะการจำกัดวงการเคลื่อนไหวทำให้เรายกน้ำหนักได้มากขึ้น กล้ามเนื้อส่วนหลังจะต้องรับน้ำหนักเต็มที่ ทำให้เกิดการพัฒนาในกล้ามเนื้อหลังอย่างเด่นชัด

แต่ไม่ใช่เหตุผลแค่นั้นที่ทำให้ท่า rack pulls เหมาะสำหรับนักเพาะกายหรือนักกีฬา ช่วงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับท่านี้ยังมีหลังช่วงล่าง แขน ไหล่ สะโพก และขาหลัง(hamstrings)  รวมถึงกล้ามเนื้อท้องที่ต้องรักษาสมดุลของร่างกายอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ร่างกายเกิดความแข็งแรง "ที่นำไปใช้ได้จริง" ที่สามารถส่งต่อไปยังท่ายกน้ำหนักอื่นๆได้

Friday, December 10, 2010

ฝึกกล้ามท้อง


ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ผมเน้นฝึก strength(พละกำลัง) ไม่ใช่ hypertrophy(ขนาดกล้ามเนื้อ) กลับทำให้กล้ามท้องผมแน่นและแข็งแรงกว่าเดิมอีก

กล้ามเนื้อช่วงลำตัวทำหน้าที่เป็นตัวรักษาสมดุล ไม่ได้มีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวมากนัก ดังนั้นท่ายกน้ำหนักที่อาศัยการทรงตัวสูงก็จะทำให้กล้ามเนื้อท้องทำงานหนักเช่นกัน

ท่า squat และ deadlift ก็เข้าข่ายท่ายกน้ำหนักดังกล่าว แต่การจะโหลดน้ำหนักให้ได้มากกว่านั้นและปลอดภัยกว่า การฝึกด้วยท่า rack pulls จะดีกว่าครับ

วางแผนฝึกให้โอเวอร์เทรน(overtraining)

ผมกำลังจะบอกอะไรที่สวนกระแสกับพวก Personal Trainer ตามฟิตเนสทั้งหลายแหล่ เป็นอะไรที่พวก PT นั้นจะบอกไม่ให้เราทำ เพราะการวางแผนฝึกให้โอเวอร์เทรนมีผลลัพท์ที่ดีกว่าการฝึกต่อเนื่อง

ความจริงการฝึกแบบนี้มีมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในการฝึกยกน้ำหนักกับการแข่งระดับโอลิมปิค

ส่วนพื้นฐานการฝึกนั้นง่ายมาก...

ให้ฝึกต่อเนื่องเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วพักหนึ่งสัปดาห์ (?) แล้วกลับมาเริ่มใหม่

แต่สองสัปดาห์ที่ว่านั้นต้องเป็นการฝึกหนักถึงขั้นหักโหม จนรู้สึกได้ตอนช่วงสัปดาห์ที่สองว่าเรายกน้ำหนักระดับเดิมไม่ไหว ให้อัตราน้ำหนักพวกนั้นลดไปเกิน 20% เลยยิ่งดี

เมื่อถึงจุดสิ้นสุดของสัปดาห์ที่สอง มักเป็นปกติที่ผู้ฝึกจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายและน้ำหนักลดเห็นได้ชัด นั่นล่ะเป็นสัญญาณที่ดี

ผมได้ใช้การฝึกทำนองนี้ในช่วงหลังและพบว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น เมื่อพ้นช่วงพักหนึ่งสัปดาห์ไปแล้ว ระดับน้ำหนักที่ผมใช้นั้นจะเพิ่มขึ้นราว 2%-8% (พอใช้วิธีนี้น้ำหนักท่า deadlift ผมเพิ่มจาก 40kg->105kg ในสามเดือน)

และถึงในช่วงสองสัปดาห์นั้นบางทีน้ำหนักตัวผมลดไปถึง 5 กิโล แต่พอพ้นช่วงพักไป น้ำหนักผมก็เพิ่มกลับมา 7 กิโล (น้ำหนักตัว 84kg-88kg ที่ bf12% ในสามเดือน)

ประเด็นสำคัญในการฝึกแบบนี้คือ;
- ทุ่มเทให้ทุก rep และ set
- ถ้าปกติคุณยก 15 rep ก็ให้เพิ่มน้ำหนักที่ยกไหวแค่ 8 rep
- ถ้าเกิดยกไม่ไหว ให้ลดน้ำหนักไม่เกิน 5% ในแต่ละ set
- ทานเครื่องดื่มโปรตีนผสมกลูโคสทั้งก่อนและหลังฝึก
- ช่วงสัปดาห์หลังจะมีอาการนอนไม่หลับ นั่นเป็นเรื่องธรรมดาและพยายามหาเวลางีบเท่าที่ทำได้
- ไม่ทำกิจกรรมออกกำลังที่ไม่จำเป็น
- ใช้ท่าออกกำลังประเภท compound: spuat, deadlift, chin-ups, bench press, military press
- กินโปรตีน 4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ไม่ออกกำลังท่าไบเซบทั้งหลาย มันเสียเวลาครับ

ในช่วงพักหนึ่งสัปดาห์นั้น
- ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก
- พยายามกินให้เยอะกว่าปกติ (+calorie มากกว่าเดิม 1,000 หน่วย)
- จะกินไอติมหรือขนมอะไรก็ได้ ช่วงพักไม่จำเป็นต้องเข้มงวดมาก

ส่วนท่าฝึกทั้งหลายก็ลองดูจากวีดีโอตาม youtube นะครับ

Thursday, December 9, 2010

ข้อผิดพลาดของนักเพาะกายมือใหม่

ผมคิดว่าทุกคนเคยไปฟิตเนสตอนช่วงพีคกันมาหมดแล้ว และคงได้เห็นแล้วว่าอะไรคือข้อผิดพลาดของนักเพาะกายมือใหม่ (ไม่ต้องเป็นนักเพาะกายก็ได้ แค่คนออกกำลังกายธรรมดานี่ล่ะ)

ใช้น้ำหนักมากเกินไป
จริงว่าการโหลดแผ่นน้ำหนักเยอะๆมันทำให้รู้สึกเท่ ผมเองก็ทำบ่อยๆ แต่การที่น้ำหนักเยอะไปก็ทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ครบช่วง (Range of Movement = ระยะการเคลื่อนไหว เช่นการยก bench press ให้บาร์ลงสัมผัสหน้าอกและยกกลับขึ้นไปจนสุด) ผมเจอพวกน้องๆชอบโหลดเครื่อง smith ด้วยน้ำหนักร้อยกว่ากิโลแล้ว squat ย่อกันได้แค่ไม่ถึงครึ่งฟุตด้วยซ้ำ

การทำแบบนี้นอกจากจะไม่กระตุ้นกล้ามเนื้อให้เติบโตแล้ว ยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอีกต่างหาก เพราะข้อต่อและเส้นเอ็นเรายังไม่พัฒนาขนาดที่จะรองรับน้ำหนักขนาดนั้น

ทางที่ดีคือหาน้ำหนักที่ Optimal (เหมาะสม) ที่เราสามารถเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนจบ

Reps ไม่รู้จบ
ช่วงผมยกน้ำหนักใหม่ๆ ก็อยากมีไบเซบโตๆ อกแน่นๆ ก็อัดเข้าไปแต่ท่า Curls กับ Bench Press ยกเข้าไปตั้งสองสามชั่วโมงแต่ไอ้สองท่าเนี่ย แล้วก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมพยายามขนาดนั้นแล้วมันไม่ใหญ่ไม่โตสักที

เรื่องนี้มันมีหลายคำตอบมากๆ แต่ผมจะสรุปสั้นๆให้ฟัง

1) เพราะน้ำหนักเบาเกินไป - เราถึงยกได้เรื่อยๆไง
2) กล้ามเนื้อไม่ได้สัดส่วน - ถ้ากล้ามเนื้อช่วงหน้าแข็งแรงกว่าหลัง ร่างกายจะหยุดไม่ให้มันแข็งแรงมากเกินไป เพราะจะเสียสมดุล

เชื่อพวกนิตยสารมากไป
ตอนแรกผมก็ติดตามพวกนิตยสารเพาะกายนะ หวังว่าตารางฝึกพวกนั้นจะได้ผล แต่เชื่อเถอะว่ามันไม่ได้ผลขนาดนั้นหรอก พวกตารางเพาะกายในนั้นมักเป็นข้อมูลสำเร็จรูปที่;
1) ไม่ได้ออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายเรา - ร่างกายบางคนมีจุด insertion ต่างออกไปทำให้กล้ามเนื้อบางชุดทำงานมากกว่า การไม่ดูจุดนี้ทำให้การออกกำลังกายด้วยตารางนั้นไม่ได้ผล หรือไม่ได้ออกแบบมาให้แก้ปัญหาตรงจุด อย่างบางคนกล้ามเนื้อไหล่เล็ก แต่ตารางนั้นไม่เน้นไหล่เลย
2) ไม่อธิบายข้อมูลหรือทางเลือกให้ปรับเปลี่ยนตารางได้ - การใช้ท่าหรือการยกเป็นจังหวะนั้น มันมีเหตุผลของมัน และถ้าเราไม่ทราบข้อมูลของมันก็ไม่อาจนำมาใช้ได้เต็มที่
3) ใช้กับพวกนักเพาะกายมืออาชีพ - เราไม่ใช่นักเพาะกายมืออาชีพที่เคร่งครัดกับการกิน การนอน การใช้ยาตลอด 24 ชม. อย่าไปคิดว่าจะทำได้แบบเขาครับ

กินน้อยไป
ถ้ายกกันเต็มที่แล้วมันไม่โตสักที ก็กินให้เยอะขึ้น ร่างกายจะโตหรือไม่โตมันขึ้นกับอาหารครับ

กินไม่พอ
บางคนบอกว่ากินเยอะแล้วก็ไม่โต ลองเขียนออกมาเป็นรายการดู แล้วจะได้เห็นว่าเรากินไม่พอ

เอาง่ายๆ ถ้าคุณกินข้าว 4 มื้อแล้วไม่โต ก็กิน 5 มื้อซะ

Wednesday, December 8, 2010

Glycemic Index และ Glycemic Load


เรื่องของ Glycemic Index เริ่มถูกนำมาเป็นหัวข้อการสนทนามากขึ้น แต่เมื่อผมได้คุยกับคนที่สนใจเรื่อง GI (Glycemic Index) แล้ว ก็พบว่าพวกเขาไม่ได้สนใจ GL (Glycemic Load) หรือมองเรื่องพวกนี้ในทางหลักปฏิบัติสักเท่าไหร่

Glycemic Index เป็นมาตรวัดความไวในการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลของร่างกาย โดยอิงจากมาตรฐานการดูดซึมของ Glucose (ซึ่งมีค่าเป็น 100)

ในการทดลองนั้นได้ให้ผู้ทดลองอยู่ในสภาพอดอาหารและกินอาหารประเภทต่างๆไป 50 กรัม และหลังจากนั้นก็ทำการเจาะเลือดเพื่อวัดผลน้ำตาลในเลือด

แต่เอาจริงๆ จะมีใครกินอาหารในปริมาณ 50 กรัมพอดิบพอดีมั่ง?

ดังนั้นจึงมีการคิดมาตร GL ขึ้นมาเพื่อใช้คำนวณอัตรา GI+ปริมาณอาหาร ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้จริงมากกว่า โดยคำนวณจาก Glycemic Index คูณ จำนวณคาร์โบไฮเดรตชนิดนั้น และ หารด้วย 100

อย่างข้าวหอมมะลิที่มี GI ที่ 99 ในปริมาณ 150 กรัม(แต่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ 42 กรัม) ก็เท่ากับ 99*42/100 = 41.58 และถ้าเป็นแอปเปิ้ลที่ไฟเบอร์สูงนั้น ค่า GL ก็ยิ่งต่ำลงไปอีก

การที่เรากะเกณฑ์เวลาในการกินคาร์โบไฮเดรตชนิดต่างๆ ทำให้ค่า Insulin Sensitivity (การตอบสนองต่ออินซูลิน) ของร่างกายเราดีขึ้นด้วย ทำให้การฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังเพาะกายก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

แต่จริงๆเราต้องคำนึงถึง Glycemic Index กับ Glycemic Load ตลอดเวลาไหม

ถ้าการนำเครื่องคิดเลขและแผ่นตาราง GI พกติดตัวไปไหนมาไหน ฟังดูไม่เป็นปัญหาก็เชิญเถอะครับ

ถึงเรื่องพวกนี้จะสำคัญต่อทั้งสุขภาพและประสิทธิภาพในการเพาะกาย แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องง่ายๆให้มันซับซ้อน

1. เรื่อง GI กับ GL เป็นมาตรวัดทางวิทยาศาสตร์มากกว่าจะนำมาใช้เป็นแนวทางโภชนาการ
เราก็แค่ดูง่ายๆว่าอาหารชนิดนั้นมีไฟเบอร์สูงไหม ผ่านการขัดสีมามากแค่ไหน และเราจะกินอาหารนั้นเยอะไหม ไม่ต้องไปคิด GL ให้วุ่นวาย

2. มองยังไงว่าอาหารนั้นมี GI สูงไหม
ดูข้าวขาวกับข้าวซ้อมมือครับ มันต่างกันตรงไหน ข้าวซ้อมมือมีไฟเบอร์สูงกว่าและเนื้อหยาบกว่า และไม่ได้อร่อยมาก (ข้อสังเกตของผมเอง อาหาร GI ต่ำมักไม่อร่อยครับ)

แล้วมีวิธีลดค่า GI ในอาหารลงไหม?

มีผลงานวิจัยในปี 2006 โดย Dr. Wolever กล่าวว่าการบริโภคโปรตีนกับคาร์โบไฮเดรตทำให้ปริมาณอินซูลินไม่พุ่งขึ้นหวือหวามากเกินไป ดังนั้นถ้าคุณทานเวย์โปรตีนผสมกลูโคส ก็ถือว่าถูกต้องแล้ว

สรุปกันสั้นๆ
  • GI จะมาเป็นหัวข้อพูดคุยบ่อยๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องทำให้มันซับซ้อนเกินจำเป็น
  • กินอาหารไฟเบอร์สูงเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด
  • กินเวย์ผสมกลูโคสไม่ทำให้อินซูอินพุ่งสูงกว่าการกินกลูโคสเดี่ยวๆ

ทำไมถึงเริ่มเพาะกาย


ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นนักแสดงรูปร่างดีในภาพยนตร์และมีความคิดอยากมีรูปร่างแบบนั้นบ้าง แต่นักแสดงคนที่มีอิทธิพลกับความคิดของผมมากที่สุดคืออาร์โนล นักเพาะกายที่หันมาเอาดีด้านงานแสดงและได้ไต่เต้าสู่สายอาชีพนักการเมือง

ในช่วงสมัยที่อาร์โนลเริ่มเข้าวงการนักแสดงนั้น ไม่มีดาราชายคนไหนที่มีรูปร่างเหมือนกับเขา ผมเองเมื่อยังเด็กก็ได้แต่คิดว่าอาร์โนล "รูปร่างแปลกๆ" แต่ก็คิดว่า "เท่ไม่เบา"

ความสนใจของผมทำให้ใครต่อใครต่างพากันตั้งคำถาม ไม่ว่าจะ "ชอบไปได้ไง น่าเกลียด" หรือ "อยากเป็นควายถึกเหรอ" ทำให้ช่วงก่อนที่ผมจะเริ่มเพาะกายนั้นหมดกำลังใจไปทีเดียว

แต่คำถามพวกนั้นก็ทำให้ผมได้รู้ตระหนักอย่างหนึ่งว่า ถึงผมจะแตกต่างแต่ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ผมจึงค่อยๆเก็บความรู้เกี่ยวกับการเพาะกายไปเรื่อยๆ และคอยทดลองการออกกำลังกาย กับเรื่องโภชนาการต่างๆ

ในช่วงเวลาสี่ปีที่ผมทุ่มเทให้กับการเพาะกาย ทำให้ได้เรียนรู้หลายๆเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบกัน เช่น
  • ท่ายกที่เพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ไวที่สุด
  • เทคนิคพื้นฐานกับ "เพาะกายให้ใหญ่"
  • วิธีเพาะกายนายแบบ
  • การเพิ่มความแข็งแรงสำหรับนักกีฬา
  • ทำอย่างไรให้ยกน้ำหนักได้มากกว่าปกติ
  • อาหารเสริมที่จำเป็นจริงๆ
ผมจะนำเรื่องพวกนี้มาทยอยแจกแจกทีละหัวข้อ และหวังว่าคนที่แวะเข้ามาอ่านจะได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อย